วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นางกวัก







               นางกวัก  เป็นที่ทราบกันดีว่านางกวักคือรูปปั้นที่มักถูกวางไว้หน้าร้าน และพ่อค้าแม่ขายมีไว้เพื่อกราบไหว้บูชา โดยหวังให้กิจการค้าของตนเจริญรุ่งเรือง โดยนางกวักมีชื่อจริงว่า สุภาวดี มีบิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ ส่วนมารดาชื่อ สุมณฑา นางเป็นคนเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี ครอบครัวของนางมีอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อต้องการจะขยายกิจการ จึงไปซื้อเกวียนมา 1 เล่ม และสินค้าไปขึ้นเกวียนเพื่อไปเร่ขายตามถิ่นต่างๆ ซึ่งนางสุภาวดี ก็ขออนุญาตบิดาเดินทางตามไปด้วยในบางครั้ง เพื่อหวังเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย


                ระหว่างเดินทางไปค้าขาย นางสุภาวดีได้พบกับ “พระกัสสปเถระเจ้า” ผู้เป็นอริยสงฆ์ เมื่อนางได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระกัสสปเถระเจ้า พระกัสสปเถระเจ้าก็ได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้ครอบครัวของนางสุภาวดีในทุกครั้งที่นางได้มีโอกาสไปฟังธรรม ต่อมา นางสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาของตนไปทำการค้าอีก และได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” ด้วยความตั้งใจ จึงทำให้นางสุภาวดีมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ  และเนื่องจากพระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น กล่าวคือ ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์มารดายาวนานถึง 7 ปี 7 เดือน และเมื่อคลอดออกมาก็พร้อมไปด้วยวาสนาและบารมีที่ติดตัวมากับวิญญาณธาตุของท่าน พระสิวลีท่านจึงเป็นผู้ที่มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอดในทุกคราวที่ต้องการ และเมื่อนางสุภาวดีมาฟังธรรมบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจ พระสิวลีเถระเจ้าจึงได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้แก่ครอบครัวของนางสุภาวดี


                  เมื่อจิตของนางสุภาวดีได้รับการประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆสมความปรารถนาเถิด” จึงส่งผลให้บิดาทำการค้าเจริญรุ่งเรือง และได้กำไรอย่างไม่เคยขาดทุน


                  เมื่อบิดารู้ว่า นางสุภาวดีคือต้นเหตุแห่งความเป็นมงคลนี้ และทำให้ครอบครัวมีเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย จนกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี พร้อมด้วยเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย  เทียบเท่ากับธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของนางสุภาวดีจึงได้หมั่นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และ ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธาสืบมา


                  เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตลง ชาวบ้านจึงปั้นรูปปั้นของแม่นางสุภาวดีขึ้น เพื่อไว้บูชาเพื่อขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อเรื่องนี้ได้ถูกแพร่หลายข้ามประเทศเข้ามายังสุวรรณภูมิ และยังคงเป็นความเชื่อที่พ่อค้าแม้ค้าทั้งหลายยังคงศรัทธาสืบมาจนถึงทุกวันนี้

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำนานไทยกำเนิดดาวลูกไก่


ตำนานไทยกำเนิดดาวลูกไก่

            ที่ชายป่าแห่งหนึ่งไม่ไกลจากเชิงเขา ตากับยายปลูกกระท่อมอาศัยอยู่กันตามลำพัง มีอาชีพเก็บผักและของป่าไปขายให้พอเลี้ยงชีพได้ ตากับยายเลี้ยงไก่ตัวหนึ่งไว้กินไข่ ต่อมาแม่ไก่ออกไข่ แล้วฟักออกมาเป็นลูกไก่ตัวน้อยๆน่ารัก 7 ตัว  ตากับยายนั้น เลี้ยงดูและเมตตาให้อาหารกับแม่ไก่และลูกไก่ตามกำลัง
             บางครั้งให้ข้าวเปลือก บางคราให้เป็นอาหาร  แม่ไก่บอกลูกไก่ทั้ง 7 ว่า จำไว้นะลูกจ๋า ตากับยายเป็นผู้มีพระคุณ” ส่วนตากับยายนั้น ก็เฝ้าดูแม่ไก่และลูกไก่น้อย ที่คอยคลอเคลียแม่ไม่ยอมห่างด้วยความเอ็นดู
นิทานพื้นบ้านเรื่องดาวลูกไก่              อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีพระธุดงค์มาปักกลด อยู่ริมเชิงเขา ตากับยายจึงเข้าไปนมัสการ และตั้งใจว่าจะทำอาหารไปถวายพรุ่งนี้ เมื่อค้นดูในเสบียงอาหาร ในครัวก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เพราะในละแวกนี้มีบ้านของตากับยายเพียงหลังเดียว ตากับยายจึงปรึกษากันว่า อาจจะต้องฆ่าแม่ไก่แล้วทำอาหารถวายพระ ทั้งตากับยายรู้สึกเศร้าใจมาก ด้วยความรักและสงสารแม่ไก่กับลูกไก่ที่ต้องกลายเป็นลูกกำพร้า
         
             แม่ไก่ที่กำลังกกลูกไก่นอนอยู่ ได้ยินดังนั้น จึงตัดสินใจยอมสละชีวิต เพื่อตอบแทนบุญคุณของตากับยาย แม่ไก่จึงบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย วันรุ่งแม่ก็ต้องตายแล้ว แม่จะต้องตอบแทนบุญคุณตากับยาย ที่ชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นลูกเจี๊ยบ” ลูกไก่ทั้ง 7 ได้ยินดังนั้น ก็ร้องไห้ซบอกแม่แน่นขึ้น แม่ไก่ก็ร้องไห้สะอื้นสั่งเสียลูกต่อไปว่า “ลูกๆทั้ง 7 ตัว ต้องรักกันสามัคคีกัน น้องจิ๋วต้องเชื่อฟังพี่ใหญ่” แล้วแม่ไก่ก็กอดลูกน้อยร้องไห้ทั้งคืน จนกระทั่งหลับไป
            
นิทานพร้อมภาพประกอบดาวลูกไก่
         
             เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ตากับยายทำอาหาร ตาจึงเชือดแม่ไก่เอาไปทำแกง เมื่อตากับยายก่อไฟเตรียมประกอบอาหาร ทันใดนั้น ตากับยายก็ต้องตกตะลึงจนร้องไม่ออก เมื่อเห็นลูกไก่ทั้ง 7 ตัว กระโดดเข้ากองไฟ ตายตามแม่ไก่ไป เทวดานางฟ้า ต่างก็ทราบซึ้งในความกตัญญูของแม่ไก่และลูกไก่จึงได้รับลูกไก่ทั้ง 7 ตัว ไปอยู่บนฟากฟ้า มีแสงระยิบระยับเป็นประกาย





นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน




หอนางอุสา







             มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองพานมีพระยาพานปกครอง วันหนึ่งได้เสด็จออกประพาสป่า ได้พบกับนางอุสา ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาน่าเอ็นดูและได้ขอนางกับพระฤาษีมาเลี้ยงเป็นลูก เมื่อนางอุสาเติบโตเป็นสาวมีความงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ กล่าวถึงท้าวบารสพระราชบุตรของเจ้าเมืองปะโค ได้เสด็จออกประพาสป่าจนมาถึงต้นไทรใหญ่ได้หยุดพักผ่อน และได้ตั้งเครื่องเซ่นสังเวยเทวดา



            เมื่อเหล่าเทวดาอารักษ์ได้รับเครื่องเซ่นไหว้ก็คิดตอบแทนน้ำใจของท้าวบารส โดยขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับพักผ่อนกัน ในป่าเทวดาได้อุ้มเอาท้าวบารสไปไว้ในหอของนางอุสา เมื่อทั้งสองได้พบกันก็มีความพอใจกันอยู่ด้วยกันเป็นเวลา ๗ คืน พอคืนวันที่ ๘ ขณะที่นางอุสาและท้าวบารสกำลังหลับอยู่นั้น เทวดาได้มาอุ้มท้าวบารสกลับไปที่ต้นไทรใหญ่เหมือนเดิม เมื่อท้าวบารสตื่นขึ้นมาคิดว่าตัวเองฝันไปและคิดถึงนางอุสาอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายนางอุสาเมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบท้าวบารสก็ได้สอบถามและสืบทราบว่าชายผู้มาอยู่กับนางนั้นคือท้าวบารสพระราชบุตรแห่งเมืองปะโค 


          นางจึงเขียนสาสน์ไปถึงท้าวบารส เมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้งก็ยินดียิ่งและอยู่ร่วมกันที่หอนางอุสาร่วมหนึ่งเดือน ความทราบถึงพระยาพาน ทรงพิโรธมากและได้จับตัวท้าวบารสนำไปขังไว้ ความทราบถึงเจ้าเมืองปะโคจึงได้เขียนสาสน์ไปถึงพระยาพานให้ปล่อยตัวท้าวบารส แต่พระยาพานไม่ยอมปล่อย จึงเกิดการทำศึกขึ้นระหว่างเมืองพานกับเมืองปะโค แล้วพระยาพานเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกฆ่าตาย นางอุสาได้ติดตามไปอยู่กับท้าวบารสที่เมืองปะโค แต่ได้รับความชอกช้ำใจมากเพราะท้าวบารสไม่เอาใจใส่นางดังเคย จึงหนีกลับเมืองพานและเฝ้าคิดถึงท้าวบารสจนล้มป่วยและสิ้นใจตาย 

              ฝ่ายท้าวบารสได้ติดตามมาหานางอุสาที่เมืองพาน แต่มาช้าไปจึงรู้สึกสำนึกผิดต่อนางอุสา พระยาพาน และชาวเมืองพาน ท้าวบารสเสียใจเป็นที่สุดจึงล้มลงขาดใจตายตามไปด้วย ด้วยความรักที่ทุกคนมีต่อกันอย่างบริสุทธิ์ จึงเป็นผลบุญให้ดวงวิญญาณไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์




เรื่องท้าววัวทอง (อุ่นหล้าวัวทอง)



ท้าววัวทอง

             ครั้งก่อนเมื่อตอนที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นวัวตัวใหญ่ เรียกว่า “วัวทอง” เป็นสัตว์เลี้ยงของนายพรานป่า ผู้ที่เลี้ยงวัวทองคือ” ท้าวอุ่นหล้า” ลูกชายของนายพรานป่า ต่อมานายพรานป่าได้นางผีปอบมาเป็นภรรยาคนที่สอง นางผีปอบจับแม่ของท้าวอุ่นหล้ากินเสีย  วัวทองจึงพาอุ่นหล้าหนีไปอยู่ที่อื่น
           ระหว่างทางวัวทองได้ช่วยงูซวง สู้กับพญานาคได้ชัยชนะ ท้าวอุ่นหล้าและวัวทองไปอาศัยกับย่าจำสวน คือหญิงชราที่เฝ้าสวนกษัตริย์  ท้าวอุ่นหล้าเที่ยวพนันชนวัวและได้ข้าวห่อมาเลี้ยงชีวิต หลานเจ้าเมืองนำวัวมาท้าชน แต่แพ้ ทำให้เจ้าเมืองไม่พอใจ จึงท้าให้วัวทองไปสู้รบกับปลิงใหญ่ที่เจ้าเมืองเลี้ยงไว้ ท้าววัวทองและปลิงใหญ่ต่อสู้กันจนตาย
       วัวทองได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ แต่คอยช่วยเหลือท้าวอุ่นหล้า ให้พ้นจากการจองเวรของเจ้าเมือง เช่น เจ้าเมืองแกล้งให้ท้าวอุ่นหล้าถางป่าดงกว้างให้เสร็จภายในหนึ่งวัน เทพบุตรวัวทองก็ลงมาช่วย ต่อมาเจ้าเมืองให้ท้าวอุ่นหล้าสร้างเจดีย์ สะพานเงิน สะพานทองกลางน้ำ เทพบุตรก็ลงมาช่วย เมื่อเสร็จแล้วเจ้าเมืองไปยืนบนสะพาน สะพานได้หักลง เจ้าเมืองจมน้ำสิ้นชีวิต ประชาชนจึงเชิญท้าวอุ่นหล้าเป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อได้เป็นพระยาครองเมืองแล้ว ท้าวอุ่นหล้าก็ไม่ลืมคุณบิดา จึงขอร้องให้เทวดาและพญาครุฑไปรับพ่อมาอยู่ด้วยกัน

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำนานเล่าขานทุ่งกุลาร้องไห้

ตำนานเล่าขานทุ่งกุลาร้องไห้
  
            กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แถบทุ่งกุลาร้องไห้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน ในสมัยนั้นมีเมืองสำคัญเมืองหนึ่งชื่อ จำปานาคบุรี เจ้าเมืองจำปานาคบุรีมีพระธิดาชื่อ  นางแสนสี  และมีพระนัดดาชื่อ  นางคำแบง  พระนางทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาสวยงามเป็นที่เลื่องลือมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ บูรพานคร เจ้าเมืองมีพระโอรสชื่อ ท้าวฮาดคำโปง และพระนัดดาชื่อ ท้าวอุทร วันหนึ่งเจ้าเมืองทรงส่งพระโอรสและพระนัดดาไปเรียนวิชาด้วยกันที่สำนักอาจารย์แห่งหนึ่ง
           เมื่อทั้งสองจวนจะสำเร็จวิชาอาจารย์ได้บอกให้ศิษย์ไปต่อสู้กับพญานาคซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเมือง จำปานาคบุรี เพื่อทดลองวิชาหากสามารถต่อสู้กับพญานาคทั้งฝูงได้ชัยชนะ ก็แสดงว่าเรียนสำเร็จวิชาแล้ว เมื่อท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร ลาอาจารย์ไปยังเมืองจำปานาคบุรี ทั้งสองก็ไม่ได้ทดลองวิชาแต่อย่างใดเพราะทราบข่าวว่า เจ้าเมืองมีพระธิดาและพระนัดดา มีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ ทำให้ต้องการได้พระนางมาเป็นคู่ครองจึงพยายามหาโอกาสพบพระนางทั้งสองให้จงได้


           ในที่สุด พระองค์ก็ทราบจากชาวบ้านว่าทั้งสองพระองค์มักออกมาเล่นน้ำทะเลทุก ๆ วัน จึงทรงวางอุบายดักพบพระนาง วันหนึ่งพระนางแสนสี และ พระนางคำแบง ทั้งสองพระองค์ได้ออกมาพายเรือเล่นทะเล ท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร  เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นเรือหงส์ทองลอยตามเรือของพระนางทั้งสองไป และทันกันในที่สุด





          


          ท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร ได้พูดเกี้ยวพระนางทั้งสอง พร้อมอ้อนวอนให้พระนางทั้งสองมาลงเรือของตน พระนางแสนสีและพระนางคำแบง ทนต่อการอ้อนวอนไม่ไหว จึงยอมทิ้งเรือ แล้วพา จำแอ่น ผู้ดูแลเรือมาลงเรือหงส์ทองด้วยกัน เมื่อข่าวนี้ทราบถึงเจ้าเมืองจำปานาคบุรี  เจ้าเมืองได้ไปขอความช่วยเหลือจากพญานาคที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ให้มาช่วยกันดันพื้นบาดาลให้สูงขึ้นในบริเวณที่เจ้าเมืองขอร้องชั่วเวลาเดียวทะเลสาบที่เคยมีน้ำสุดลูกหูลูกตา ก็แห้งขอด กลายเป็นทุ่งที่เวิ้งวาง กว้างใหญ่ ไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว ทำให้เรือของทั้ง ๕ คน แล่นต่อไปไม่ได้
ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร  ได้นำนางจำแอ่นไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง  ซึ่งต่อมาเรียกว่า ดงจำแอ่น ส่วนพระนางแสนสีนำไปซ่อนไว้ที่ ดงแสนดี   หรือ  บ้านแสนสี ในปัจจุบัน และนำพระนางคำแบงไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ดงป่าหลาน (ปัจจุบัน คือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)








        ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร ต่างก็หลงรัก  พระนางแสนสี ทำให้เกิดความหึงหวงแ
ละต่อสู้กันอย่างดุเดือด  ท้าวอุทรได้ฆ่าท้าวฮาดคำโปงเสียชีวิต กลายเป็นผีเฝ้าทุ่งที่น่าขนลุกขนพอง ชาวบ้านแถบทุ่งกุลาร้องไห้เรียกว่า ผีโป่ง หรือ ผีทุ่งศรีภูมิเจ้าเมืองจำปานาคบุรีทรงทราบเรื่องราว   ต่าง ๆ จนหมดสิ้น  จึงเสด็จออกตามธิดาและท้าวอุทรกลับมายังบ้านเมือง ทรงมอบหมายให้ท้าวอุทร    ไปสร้าง เมืองท้าวสาร (ปัจจุบัน คือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)


        เมื่อท้าวอุทรสร้างเมืองเสร็จ ท้าวจำปานาคบุรีก็ยกนางแสนสี ธิดาของตนให้เป็นมเหสีแก่ท้าวอุทรอยู่มาวันหนึ่งมีพ่อค้าชาว กุลา นำสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ มาขายที่สุรินทร์ เมื่อขายสินค้าหมด จึงเดินทางมาซื้อครั่งที่อำเภอท่าตูม  พ่อค้าชาวกุลาได้หาบครั่งข้ามแม่น้ำมูลเดินทางผ่านทุ่งอันกว้างใหญ่ ขณะหาบครั่งเดินอยู่กลางทุ่งนั้น พ่อค้ามองเห็นเมืองป่าหลาน ซึ่งอยู่ห่างไกลมาก แต่มองฝ่าเปลวแดดออกไปเห็นเสมือนว่าอยู่เพียงใกล้ ๆ
จึงพากันเดินทางต่อไป โดยหารู้ไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน  ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้ง หาน้ำที่จะดื่มและล้างหน้าก็ไม่มี  พ่อค้าเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยอ่อนระโหยโรยแรง ทั้งหิวข้าวและกระหายน้ำมาก สุดที่จะทนได้ถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างน่าเวทนา และเทครั่งทิ้ง ณ ที่นั่น (ปัจจุบัน คือ บ้านดงครั่ง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด)
หลังจากนั้นชาวกุลาก็หาบตะกร้าเปล่าเดินทางต่อไป จนพ้นทุ่งอันกว้างใหญ่ เดินต่อไปเรื่อย ๆ ก็พบหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง จึงชวนกันเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นพวกกุลาเข้ามาต่างก็เข้าใจว่ามีสินค้ามาขายให้พวกตน จึงพากันมามุงดูเพื่อจะขอซื้อสินค้าแต่พ่อค้ากุลาไม่มีสินค้าจะขายให้ พ่อค้ากุลาเหล่านั้นต่างหวนคิดถึงครั่งจำนวนมากที่พวกตนทิ้งไป ทั้งเสียดาย  และเสียใจยิ่ง สุดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ถึงกับร้องไห้ออกมาต่อมาชาวบ้านทั้งหลาย จึงเรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559


วิดีโอตัวอย่างเกี่ยวกับนิทานและตำนานพื้นบ้าน



นิทานพื้นบ้าน ตำนานที่ไม่เคยได้ยิน


นิทานพื้นบ้าน ตำนานที่ไม่เคยได้ยิน



ตำนานวัดคูขุด(วัดสุวรรณนที)


รวบรวมนิทานพื้นบ้านและตำนานเหลือเชื่อมากมายไว้ที่นี่ 
อ่านง่ายพร้อมภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นนิทาน 4 ภาค ตำนานสถานที่สำคัญต่างๆ


ตำนานเท้าผาแดง-นางไอ่