วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำนานเล่าขานทุ่งกุลาร้องไห้

ตำนานเล่าขานทุ่งกุลาร้องไห้
  
            กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แถบทุ่งกุลาร้องไห้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน ในสมัยนั้นมีเมืองสำคัญเมืองหนึ่งชื่อ จำปานาคบุรี เจ้าเมืองจำปานาคบุรีมีพระธิดาชื่อ  นางแสนสี  และมีพระนัดดาชื่อ  นางคำแบง  พระนางทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาสวยงามเป็นที่เลื่องลือมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ บูรพานคร เจ้าเมืองมีพระโอรสชื่อ ท้าวฮาดคำโปง และพระนัดดาชื่อ ท้าวอุทร วันหนึ่งเจ้าเมืองทรงส่งพระโอรสและพระนัดดาไปเรียนวิชาด้วยกันที่สำนักอาจารย์แห่งหนึ่ง
           เมื่อทั้งสองจวนจะสำเร็จวิชาอาจารย์ได้บอกให้ศิษย์ไปต่อสู้กับพญานาคซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเมือง จำปานาคบุรี เพื่อทดลองวิชาหากสามารถต่อสู้กับพญานาคทั้งฝูงได้ชัยชนะ ก็แสดงว่าเรียนสำเร็จวิชาแล้ว เมื่อท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร ลาอาจารย์ไปยังเมืองจำปานาคบุรี ทั้งสองก็ไม่ได้ทดลองวิชาแต่อย่างใดเพราะทราบข่าวว่า เจ้าเมืองมีพระธิดาและพระนัดดา มีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ ทำให้ต้องการได้พระนางมาเป็นคู่ครองจึงพยายามหาโอกาสพบพระนางทั้งสองให้จงได้


           ในที่สุด พระองค์ก็ทราบจากชาวบ้านว่าทั้งสองพระองค์มักออกมาเล่นน้ำทะเลทุก ๆ วัน จึงทรงวางอุบายดักพบพระนาง วันหนึ่งพระนางแสนสี และ พระนางคำแบง ทั้งสองพระองค์ได้ออกมาพายเรือเล่นทะเล ท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร  เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นเรือหงส์ทองลอยตามเรือของพระนางทั้งสองไป และทันกันในที่สุด





          


          ท้าวฮาดคำโปง และท้าวอุทร ได้พูดเกี้ยวพระนางทั้งสอง พร้อมอ้อนวอนให้พระนางทั้งสองมาลงเรือของตน พระนางแสนสีและพระนางคำแบง ทนต่อการอ้อนวอนไม่ไหว จึงยอมทิ้งเรือ แล้วพา จำแอ่น ผู้ดูแลเรือมาลงเรือหงส์ทองด้วยกัน เมื่อข่าวนี้ทราบถึงเจ้าเมืองจำปานาคบุรี  เจ้าเมืองได้ไปขอความช่วยเหลือจากพญานาคที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ให้มาช่วยกันดันพื้นบาดาลให้สูงขึ้นในบริเวณที่เจ้าเมืองขอร้องชั่วเวลาเดียวทะเลสาบที่เคยมีน้ำสุดลูกหูลูกตา ก็แห้งขอด กลายเป็นทุ่งที่เวิ้งวาง กว้างใหญ่ ไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว ทำให้เรือของทั้ง ๕ คน แล่นต่อไปไม่ได้
ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร  ได้นำนางจำแอ่นไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง  ซึ่งต่อมาเรียกว่า ดงจำแอ่น ส่วนพระนางแสนสีนำไปซ่อนไว้ที่ ดงแสนดี   หรือ  บ้านแสนสี ในปัจจุบัน และนำพระนางคำแบงไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ดงป่าหลาน (ปัจจุบัน คือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)








        ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร ต่างก็หลงรัก  พระนางแสนสี ทำให้เกิดความหึงหวงแ
ละต่อสู้กันอย่างดุเดือด  ท้าวอุทรได้ฆ่าท้าวฮาดคำโปงเสียชีวิต กลายเป็นผีเฝ้าทุ่งที่น่าขนลุกขนพอง ชาวบ้านแถบทุ่งกุลาร้องไห้เรียกว่า ผีโป่ง หรือ ผีทุ่งศรีภูมิเจ้าเมืองจำปานาคบุรีทรงทราบเรื่องราว   ต่าง ๆ จนหมดสิ้น  จึงเสด็จออกตามธิดาและท้าวอุทรกลับมายังบ้านเมือง ทรงมอบหมายให้ท้าวอุทร    ไปสร้าง เมืองท้าวสาร (ปัจจุบัน คือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)


        เมื่อท้าวอุทรสร้างเมืองเสร็จ ท้าวจำปานาคบุรีก็ยกนางแสนสี ธิดาของตนให้เป็นมเหสีแก่ท้าวอุทรอยู่มาวันหนึ่งมีพ่อค้าชาว กุลา นำสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ มาขายที่สุรินทร์ เมื่อขายสินค้าหมด จึงเดินทางมาซื้อครั่งที่อำเภอท่าตูม  พ่อค้าชาวกุลาได้หาบครั่งข้ามแม่น้ำมูลเดินทางผ่านทุ่งอันกว้างใหญ่ ขณะหาบครั่งเดินอยู่กลางทุ่งนั้น พ่อค้ามองเห็นเมืองป่าหลาน ซึ่งอยู่ห่างไกลมาก แต่มองฝ่าเปลวแดดออกไปเห็นเสมือนว่าอยู่เพียงใกล้ ๆ
จึงพากันเดินทางต่อไป โดยหารู้ไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน  ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้ง หาน้ำที่จะดื่มและล้างหน้าก็ไม่มี  พ่อค้าเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยอ่อนระโหยโรยแรง ทั้งหิวข้าวและกระหายน้ำมาก สุดที่จะทนได้ถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างน่าเวทนา และเทครั่งทิ้ง ณ ที่นั่น (ปัจจุบัน คือ บ้านดงครั่ง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด)
หลังจากนั้นชาวกุลาก็หาบตะกร้าเปล่าเดินทางต่อไป จนพ้นทุ่งอันกว้างใหญ่ เดินต่อไปเรื่อย ๆ ก็พบหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง จึงชวนกันเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นพวกกุลาเข้ามาต่างก็เข้าใจว่ามีสินค้ามาขายให้พวกตน จึงพากันมามุงดูเพื่อจะขอซื้อสินค้าแต่พ่อค้ากุลาไม่มีสินค้าจะขายให้ พ่อค้ากุลาเหล่านั้นต่างหวนคิดถึงครั่งจำนวนมากที่พวกตนทิ้งไป ทั้งเสียดาย  และเสียใจยิ่ง สุดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ถึงกับร้องไห้ออกมาต่อมาชาวบ้านทั้งหลาย จึงเรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

2 ความคิดเห็น:

  1. อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เป็นบล็อกที่ดี น่าสนใจมากค่ะ 😂

    ตอบลบ
  2. ยาวจังเลยมีสาระมากค่ะ😁

    ตอบลบ